คุณหมอประชาชน

โรคเลปโตสไปโรซีส (โรคฉี่หนู) โดย นพ.มลฑล ก้องเกียรติกมล

ช่วงนี้เป็นข่วงฤดูฝน ในบางพื้นที่มีน้ำท่วมขันอันเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคติดต่อต่าง ๆ โรค "เลปโตสไปโรซีส " หรือ ที่เรียกว่า "โรคฉี่หนู" ก็เป็นโรคหนึ่ง ซึ่งมักแพร่ระบาดในช่วงนี้ วันนี้เราจะมารู้จักกับโรคนี้กัน

โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์หลายชนิด เช่น หนู สุนัข แมว โค กระบือ สุกร โดยหนูจะเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญ โรคนี้เกิดได้ตลอดปี แต่พบมากในช่วงปลายฤดูฝน เกษตรกรเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด

โรคนี้ติดได้อย่างไร เชื้ออยู่ในปัสสาวะสัตว์นำโรค คนติดเชื้อจากการ สัมผัสปัสสาวะโดยตรง หรือติดต่อทางอ้อมจากแหล่งน้ำ ทุ่งนา แอ่งน้ำท่วมขังที่ปนเปื้อนเชื้อ บางครั้งอาจเกิดจากการกินน้ำ หรืออาหารที่หนูปัสสาวะรด

เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอก เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือไชเข้าผิวหนังที่แช่น้ำนานจนอ่อนนุ่ม

อาการในผู้ป่วย มักเริ่มมีอาการหลังรับเชื้อประมาณ 4-11 วัน โดยมีไข้สูงทันที ปวดศีรษะ และกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่อง ตาแดง ถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอปนเลือด ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ตับวาย ไตวาย และเสียชีวิตได้

อาการในสัตว์ หนูมักไม่แสดงอาการ สุนัข โค กระบือ สุกร อาจมีไข้ ดีซ่าน เลือดออก แท้งลูก หลังคลอดลูกอ่อนแอ

การป้องกันโรค

1. สวมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ หากต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลน

2. หากจำเป็นต้องลงแช่น้ำในคูคลอง ไม่ควรแช่นานจนตัวซีด และเมื่อขึ้นจากน้ำต้องรับอาบน้ำให้สะอาดโดยเร็ว

3. สวมรองเท้าเวลาเดินบนดิน หรือทรายที่ชื้นแฉะ และหมั่นล้างเท้าให้สะอาด

4. ปกปิดอาหารไม่ให้หนูปัสสาวะใส่

5. หมั่นล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องซากสัตว์ และสัตว์

หวังว่าทุกคนคงรู้จักไข้ฉี่หนูกันมากขึ้น อย่าลืมระมัดระวัง และป้องกันโรค หากมีอาการสงสัยให้รีบมาปรึกษาแพทย์โดยเร็วน๊ะครับ

อ้างอิงจากเอกสาร กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

กลับหน้า1